เคมี - 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับตารางธาตุ (Periodic Table)

ดมีตรี เมนเดเลเยฟ

1. ดมีตรี เมนเดเลเยฟ (Dmitri Mendelejev) นักเคมีชาวรัสเซีย เป็นผู้ที่คิดค้นตารางธาตุขึ้นเป็นคนแรก โดยทำการเรียงลำดับตามมวลอะตอมหรือน้ำหนักของธาตุ ซึ่งยังพบว่ามีข้อบกพร่องในการจัดเรียงธาตุที่มีสมบัติเหมือนกันอยู่

เฮนรี โมสลีย์

2. ตารางธาตุปัจจุบันเป็นตารางธาตุที่คิดค้นโดยเฮนรี โมสลีย์ (Henry Moseley) นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษ ซึ่งได้ค้นพบว่าจำนวนโปรตอนในอะตอมของธาตุมีความสัมพันธ์กับสมบัติของธาตุมากกว่าเลขมวลอะตอม จึงทำการปรับเปลี่ยนตารางธาตุโดยใช้เลขอะตอมเป็นเกณฑ์ในการจัดเรียงลำดับธาตุแทน ทำให้ตารางธาตุแบบใหม่นี้มีความแม่นยำในการทำนายสมบัติของธาตุมากกว่าตารางธาตุแบบเดิม

ภาพ : Pixabay

3. แนวตั้ง (column) ของตารางธาตุ เรียกว่า หมู่ (group) จะช่วยจำแนกธาตุออกเป็นกลุ่ม ซึ่งธาตุในแต่ละกลุ่มจะมีการจัดเรียงอิเล็กตรอนวงนอกที่เหมือนกัน ปัจจุบันธาตุในตารางธาตุมีทั้งหมด 18 หมู่

4. แนวนอนหรือแถว (row) ของตารางธาตุ เรียกว่า คาบ (period) ปัจจุบันธาตุในตารางธาตุมีทั้งหมด 7 คาบ

5. ธาตุในตารางธาตุทั้งหมด มีอยู่ประมาณ 90 ชนิดที่พบได้ในธรรมชาติ ส่วนที่เหลือเป็นธาตุที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้นมา  ปัจจุบันมีธาตุทั้งหมด 118 ธาตุ

6. ธาตุส่วนใหญ่เกือบ 75% ในตารางธาตุเป็นธาตุโลหะ (metal) ได้แก่ โลหะอัลคาไลน์ อัลคาไลน์เอิร์ธ ทรานซิชัน แลนทาไนด์ แอกทิไนด์

7. ธาตุที่มีสมบัติของทั้งธาตุอโลหะและโลหะ จะเรียกว่า ธาตุกึ่งโลหะ (Metalloid) เช่น โบรอน ซิลิกอน อาร์เซนิก เป็นต้น

8. ฮีเลียม นีออน อาร์กอน คริปทอน ซีนอน และเรดอน เป็นธาตุที่เป็นแก๊สเฉื่อยในกลุ่ม VIIIA (18) ในตารางธาตุ ซึ่งมักจะไม่ทำปฏิกิริยากับธาตุอื่น ๆเนื่องจาก มีอิเล็กตรอนวงนอกสุดครบ 8 ตัว ยกเว้น ธาตุที่มีจำนวนนิวตรอนมากกว่าโปรตอนมากๆ จะไม่เสถียร สามารถเกิดปฏิกิริยาเคมีได้  เช่น ซีนอน คริปทอน และเรดอน

9. คาร์บอนเป็นธาตุหนึ่งในตารางธาตุที่เป็นส่วนประกอบของสิ่งต่าง ๆ กว่า 10 ล้านชนิด ซึ่งเป็นธาตุที่มีลักษณะเป็น Allotropes หรืออัญรูป คือ การจัดเรียงตัวของอะตอมของธาตุในรูปแบบที่ต่างกันได้หลายรูปแบบ เช่น ถ่าน  ไส้ดินสอ  เพชร

10. ธาตุในตารางธาตุจะมีสัญลักษณ์ต่าง ๆ กันไป เช่น ไฮโดรเจน (Hydrogen) มีสัญลักษณ์คือ H ซึ่งมาจากอักษรขึ้นต้นชื่อธาตุในภาษาอังกฤษ ขณะที่สัญลักษณ์ธาตุบางธาตุก็มาจากภาษาละติน เช่น ทอง ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Gold แต่มีสัญลักษณ์ คือ Au ซึ่งมาจากภาษาละตินว่า Aurum หรือปรอท ในภาษาอังกฤษเรียกว่า (Mercury) แต่มีสัญลักษณ์ คือ Hg ซึ่งมาจากภาษาละตินว่า Hydrargyrum เป็นต้น

ดร.ณัฏฐพล อิสรเสรีรักษ์

ปริญญาตรี โท เอก คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ
บัณฑิตศึกษาปริญญาโทที่มีผลการเรียนดีเด่น (รางวัล ดร.แถบ นีละนิธิ)
อาจารย์พิเศษ วิชาเคมี ห้องเรียนพิเศษ gifted โรงเรียนมัธยม
วิทยากรรับเชิญ เตรียมสอบ O-NET วิชาวิทยาศาสตร์ ม.ต้น ม.ปลาย
วิทยากรรับเชิญเตรียมสอบ PAT2 และ วิชาสามัญ (เคมี)

SHARE: