สวัสดีค้าบน้อง ๆ วันนี้พี่จะมาเล่าประสบการณ์ตรงในการค้นหาคณะที่ใช่สำหรับตัวเองในรั้วมหาวิทยาลัย ก่อนจะเล่า พี่อยากแนะนำตัวให้น้อง ๆ รู้จักพี่นิดนึง พี่ชื่อ ‘หมู’ จบชั้น ม.ต้น ที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จ.สงขลา จากนั้นก็ไปต่อ ม.ปลาย ที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม

    ตอนนี้ พี่เรียนหมอที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี อยู่ชั้นปีที่ 2 แล้วครับ อ่านถึงตรงนี้ น้อง ๆ น่าจะกำลังตั้งคำถามในใจว่า พี่เป็นเด็กเนิร์ดมั้ย? เรียนพิเศษอย่างเดียวมั้ย? มีเพื่อนบ้างมั้ย? จริง ๆ แล้วพี่เป็นเหมือนเด็กทั่วไปเลย เล่นกีฬาหลังเลิกเรียนทุกวัน เล่นเกมกับเพื่อนช่วงวันหยุด เล่นดนตรีตอนอยู่บ้านเหงา ๆ คนเดียว ได้เจอเพื่อนที่เรียนพิเศษบ้างประปราย

    ช่วง ม.ต้น ที่หาดใหญ่วิทยาลัย พี่เรียนในโครงการ SMA ซึ่งเป็นโครงการพิเศษวิทย์-คณิต ภาพที่พี่คิดไว้คือ การเรียนวิทย์-คณิตแบบเกินหลักสูตร และให้ความสำคัญกับวิชาเหล่านี้เป็นหลัก แต่ด้วยข้อจำกัดของการเป็นโรงเรียนรัฐบาล ถึงแม้จะเป็นโครงการพิเศษ ก็ต้องเรียนและให้ความสำคัญกับวิชาอื่น ๆ เทียบเท่าวิทย์-คณิต พี่เลยลองหาโรงเรียน ม.ปลาย ที่เน้นวิทย์-คณิต และได้ลองท้าทายตัวเองจริง ๆ โรงเรียนที่พี่เจอก็คือ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (MWIT) ซึ่งเป็นสายโหดของคนชอบเรียนวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์แบบเข้มข้นของจริง

     หลังจากที่พี่ได้เข้าไปเรียนที่ MWIT พี่รู้สึกว่า ที่นี่แหละคือสิ่งที่เราต้องการและคิดไว้ตั้งแต่ตอนแรก เรียนวิทย์-คณิตแบบเจาะลึกถึงแก่นมันจริง ๆ ทุกคำถามที่พี่ตั้ง จะมีคนตอบพี่ได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรืออาจารย์ ทุกคนช่วยกันเรียน ข้อสอบที่ใช้สอบไม่มีการตั้งคำถามแบบท่องจำเขามา แล้วจะเอามาตอบได้ มันเป็นข้อสอบที่ดีนะ พี่ว่ามันวัดศักยภาพในการเรียนของเราจริง ๆ ว่าเราเรียนด้วยความรู้ความเข้าใจจริง ๆ ไหม? และประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาจริงเป็นไหม? คุณภาพของข้อสอบที่โหดกับเราในการวัดความรู้เรา ทำให้ทุกอย่างทุกชุดความรู้จะต้องรู้จริง และคิดวิเคราะห์อีกหลายชั้นเพื่อหาคำตอบ พี่คิดว่า การเรียนรู้ หรือได้ทำข้อสอบลักษณะแบบนี้เป็นสิ่งที่ควรทำมาก ๆ เพราะทำให้เราได้พัฒนาตนเองจริง ๆ ไว้บทความต่อไปพี่จะมาเล่าถึงการเตรียมสอบ สอวน ฟิสิกส์ ด้วย น้อง ๆ รออ่านกันนะครับ…

     เอ…ที่มาที่ไปของการเป็นนักศึกษาแพทย์ แล้วพี่ตัดสินใจเรียนคณะแพทยศาสตร์ได้ยังไง??? โอเค มาเริ่มเจาะรายละเอียดของการเลือกคณะเป้าหมาย ด้วยวิธีของพี่หมู กันเลย!

    ก่อนจะตัดสินใจเลือกเรียนคณะแพทยศาสตร์ ในความคิดของพี่ วิธีที่ดีที่สุดในการหาแผนการเรียนหรือเลือกคณะเป้าหมายที่อยากเรียนต่อในมหาวิทยาลัย คือ “การมองกลับไปตอนเด็ก ๆ ช่วงประถมว่าตัวเองมีนิสัยยังไง? สนใจในด้านไหนเป็นพิเศษมั้ย?”

    เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่เด็ก ๆ เราจะถูกตีกรอบจากค่านิยมของสังคมน้อยที่สุด แล้วหลังจากเราค่อย ๆ เติบโตขึ้น เราจะใช้ condition ต่าง ๆ ในชีวิตมาตีกรอบตัวเรามากขึ้น เช่น รายได้ของอาชีพ ความมั่นคงทางอาชีพ บทบาททางสังคม การยอมรับจากครอบครัว ซึ่งเข้ามา scope ให้เราเจาะจงเป็นอาชีพที่เราต้องการชัดเจนมากขึ้น

    ในกรณีของพี่ ตอนเด็ก ๆ พี่เป็นคนชอบหาสาเหตุของปัญหา และคิดกลับด้าน  พี่ชอบถามครูว่า “ทำไมถึงเป็นแบบนี้? ทำไมไม่เป็นแบบนั้น? ถ้าเปลี่ยนเป็นทำแบบนี้จะได้ผลลัพธ์เหมือนเดิมมั้ย?” พอพี่ได้เรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ก็รู้สึกชอบทันที เพราะมันเป็นวิชาที่ตอบโจทย์ความเป็นตัวตนของเราจริง ๆ ความเป็นเหตุเป็นผลเสมอของวิทยาศาสตร์ และทุกอย่างมีทฤษฎีมารองรับ คือเสน่ห์ของรายวิชานี้ หลังจากนั้นพี่ก็เลือกเรียนสายวิทย์มาตลอดตั้งแต่ ม.1 พอเรียนมาได้สักพัก พี่เริ่มรู้จักตัวเองมากขึ้นว่า เราไม่ชอบชีวะเลย เพราะเนื้อหารายละเอียดเยอะมากที่ต้องท่องจำทุกข้อมูลสำคัญลงไปในสมอง พี่เลยปักธงว่า ถ้าจะเลือกคณะ คงจะต้องเป็นการเตรียมสอบ “วิศวะ” ไม่มีทางเป็นหมอแน่นอน ณ วันนั้น

    แต่พอถึงเวลาที่เราต้องตัดสินใจจริง ๆ ว่าจะเรียนต่ออะไรดี ครอบครัวของพี่มีส่วนสำคัญในการผลักดัน อยากให้เราเรียนหมอ เพราะหมอเป็นอาชีพที่มั่นคงทั้งการเติบโตในสายงาน และรายได้ ตอนนั้นพี่ก็เถียงขาดใจ ด้วยเหตุผลว่าพี่ไม่ชอบท่องจำวิชาชีววิทยา และพี่อยากเรียนไปทางสายวิชาที่ใช้ฟิสิกส์มากกว่า เพราะสูตรทุกอย่างเชื่อมโยงกันและสามารถแทนค่า หากันได้หมด

     และนอกจากนี้ เสน่ห์ของวิชาฟิสิกส์ เป็นวิชาที่ทำให้พี่คิดเป็นระบบ มี flow chart ในหัวตลอด เมื่อจะวางแผนทำสิ่งต่าง ๆ และสิ่งที่ทำให้พี่ชอบในการทำโจทย์วิชานี้คือ คำตอบของมันสามารถประมาณค่าได้ในข้อมูลที่ไม่จำเป็น เราสามารถปัดข้อมูลตัวเลขทิ้ง หาคำตอบเป็นตัวเลขกลม ๆ แล้วเราก็จะได้คำตอบที่สวยงามเสมอในการทำโจทย์

     ถึงแม้พี่จะสอบติดคณะแพทยศาสตร์ แต่ในช่วงก่อนยืนยันสิทธิ์ ตอนนั้นพี่ทะเลาะกับครอบครัวอยู่พักนึงเลย ในเรื่องการเลือกคณะ จนกระทั่งพี่ลองมองกลับมาว่า เมื่อก่อนตัวเองก็เคยชอบชีวะ แต่พอเนื้อหามันเยอะขึ้นพี่เลยปิดกั้น และมองมันเป็นวิชาท่องจำ พอพี่ลองเปิดใจให้มันอีกครั้ง แล้วค่อย ๆ หาสาเหตุว่าทำไม ทำไม ทำไม แทนวิธีคิดเดิมคือการมองว่าเนื้อหาชีวะที่มหาศาลต้องจำทุกตัว ก็กลับกลายเป็นว่า เนื้อหาที่ถูกจัดระเบียบดีขึ้น ทำให้ข้อมูลมหาศาลเหล่านั้นน้อยลงทันตาเห็น ทุกอย่างเชื่อมโยงกันแบบเดียวกับวิชาฟิสิกส์ พี่เลยตกลงกับครอบครัวและตัดสินใจเรียนหมอ

    ที่พี่บอกว่าเนื้อหามันดูน้อยลง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ต้องท่องจำเลย พี่ชอบทำให้เนื้อหาทั้งหมดเป็นภาพเดียวกัน แล้วค่อย ๆ ไล่ไปทีละจุดว่ามันมี detail ยังไง แล้ว detail เหล่านั้น ไป support main point ยังไง เทคนิคนี้เป็นสิ่งพี่ใช้เอาตัวรอดในการสอบชีววิทยามาตลอด เพราะการหาความเชื่อมโยงของตรรกะได้ดี ทำให้การจดจำสิ่งสำคัญเป็นระบบมากขึ้น รายละเอียดไส้ในยิบ ๆ ถูกลดทอนลงไปให้เราย่อยสาระต่าง ๆ เป็นความเข้าใจ ไม่ใช่มุ่งท่องจำเนื้อหา ซึ่งไม่ทำให้เราประสบความสำเร็จในการเรียนชีววิทยาครับ

     นอกจากวิธีที่พี่ได้เล่าไปในการค้นหาตัวตนก่อนเลือกสายการเรียน หรือคณะเป้าหมาย ยังมีอีกวิธีนึงที่เพื่อนสนิทของพี่ใช้กัน คือการเฝ้าสังเกตความอดทนของตัวเองในช่วงปิดเทอมใหญ่

     แล้ว ‘ความอดทน’ ในที่นี้คืออดทนอย่างไร? อดทนกับอะไร? อดทนที่ว่ามา คือการอดทนดูว่า ตัวเราสามารถอยู่กับสิ่งที่เราชอบได้ไหม? แนวคิดของวิธีนี้คือ ในการทำงานจริง ๆ เมื่อเราโตขึ้น จะต้องทำแบบเดิมซ้ำไปซ้ำมา หรืออยู่กับภาระงานหนึ่ง ๆโดยใช้เวลายาวนาน ซึ่งการทำทุกอย่างแบบเดิมจะทำให้เราเบื่อและไม่อยากทำมันอีก แม้ว่ามันจะเป็นสิ่งที่เราชอบที่สุดก็ตาม เพื่อนสนิทพี่เขาลองลิสต์สิ่งที่ตัวเองชอบทำดู ไม่ว่าจะเป็น ฝึกงานในร้านอาหาร ฝึกงานในออฟฟิศ เขียนโปรแกรม เล่นดนตรี สุดท้ายเพื่อนพี่ก็รู้ตัวเองว่า อดทนกับการเขียนโปรแกรมได้นานที่สุด และเลือกไปเรียนต่อต่างประเทศในสาขาที่ตรงกับที่ตนเองชอบจริงๆ เพราะสามารถอยู่กับมันได้ยาวนาน แต่ยังมีความสุข มี Passion ที่จะทำมันต่อไปได้โดยที่ไม่รู้เบื่อ นี่คืองานที่เขารักจริง ๆ จนมั่นใจว่าคือตัวตนที่ต้องการจะเรียนต่อในระดับสูง เพื่อพัฒนามันเป็นอาชีพ

ตอนนี้น้อง ๆ คงกำลังคิดตามแล้วก็วางแผนเพื่อค้นหาตัวเองกันอยู่ใช่มั้ย?

พี่ขอให้น้อง ๆ เจอตัวเองเร็ว ๆ จะได้ไม่เหนื่อยเวลาเตรียมสอบ
เพราะเมื่อเจอตัวเองแล้ว จะได้ focus กับแค่วิชาที่เราจะต้องใช้
เตรียมสอบยื่นเข้าคณะนั้น ๆ ถ้ารู้สึกเครียด รู้สึกเหนื่อยกับเรื่องนี้
ลองปรึกษาใครก็ได้ ที่เข้าใจเราจริง ๆ สู้ ๆ นะคับคนเก่ง

พี่เป็น กำลังใจ ให้เสมอครับ 🙂

:: เขียนโดย ::
“พี่หมู” แพทย์รามา ปี 2 จบ ม. 6 จาก มหิดลวิทยานุสรณ์

‘นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ผู้ไม่ชอบชีวะ’
แต่ใช้ความรู้วิทยาศาสตร์ขับเคลื่อนความสำเร็จ
ในการสอบติดมหาวิทยาลัย
ด้วยความเข้าใจในการเรียนอย่างแท้จริง

     เราจะกลับมาเจอกันใน ep. ต่อไป พี่จะเขียนเกี่ยวกับการเรียนเนื้อหาในห้อง และการเรียนพิเศษฟิสิกส์ เคมี ชีวะ และ คณิตศาสตร์ รวมถึง 9 วิชาสามัญ ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดครับ พี่จะมาแชร์ตารางอ่านหนังสือสอบหมอ วิธีคิดในการเรียน และการพัฒนาตัวเองในหลากหลายมุมมองฝากติดตามกันต่อไปนะครับน้อง ๆ แล้วพบกันครับ 

: คอร์สแนะนำ :

SHARE: